นายอำเภอบ้านค่าย จ.ระยอง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานกรดมะนาวรั่วไหลลงคลองทำปลาตายเกลื่อน พบโรงงานถูกทิ้งร้าง มีกรดมะนาวรั่วไหลจากถังแคปซูลขนาดใหญ่ภายในโรงงานจนถังผุกร่อน สั่งเร่งขนย้ายให้หมดโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน พร้อมล้อมคอกป้องกันเหตุเกิดซ้ำอีก หลังพบมีโรงงานลักษณะนี้ 2-3 แห่งในพื้นที่
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ห้องประชุม อบต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายฉันท์ แป้นเพชร นายอำเภอบ้านค่าย เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหาสารเคมีของ บ.นิรันดร์(ประเทศไทย) ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ม.2 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกรดมะนาว โดยหยุดกิจการชั่วคราว เกิดเหตุถังเก็บสารเคมีกรดมะนาวผุกร่อน ที่เก็บอยู่บนดาดฟ้าโรงงาน ชั้น 5 ของอาคารสกัด รั่วไหลลงลำรางระบายน้ำภายในโรงงานก่อนไหลออกนอกโรงงานลงคลองปลากั้ง จนเกิดน้ำเสีย ค่าความเป็นกรดสูง และออกซิเจนต่ำทำให้มีปลาตายจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายธานี จารุนัฎ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง นายสุขสันต์ เอี่ยมโสภณ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทางเจ้าหน้าที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข
ต่อมานายฉันท์ แป้นเพชร นายอำเภอบ้านค่าย นำคณะลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานนิรันดร์ ต้นตอปล่อยสารเคมีรั่วไหล พบโรงงานถูกทิ้งร้างหญ้าขึ้นรกทึบ มีเจ้าหน้าที่ รปภ.ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ป้อมด้านหน้าโรงงาน ส่วนที่รัวไหลอยู่อาคารสกัด 5 ชั้น พบสภาพถังแคปซูลเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ขึ้นสนิม ผุพังจำนวนหลายสิบถัง บริเวณพื้นปูนในอาคารชั้นล่างสุด พบสารเคมีกรดมะนาวรั่วไหลเต็มพื้นปูน เจ้าหน้าที่ได้นำปูนขาวโรยทับ เพื่อให้เจือจาง บางจุดพบการรั่วไหลของสารเคมีได้รั่วซึมไหลลงตามโครงสร้างเหล็กของตัวอาคารลงสู่ลำรางระบายน้ำของโรงงาน ซึ่งบางจุดกรดได้ทำปฏิกิริยากับน้ำและปูนขาว จนเห็นเป็นลักษณะฟองคล้ายน้ำเดือด หรือของหมักเน่าบูด
นายฉันท์ แป้นเพชร นายอำเภอบ้านค่าย กล่าวว่า เบื้องต้นจะเร่งแก้ไข เฉพาะหน้าเร่งด่วน ซึ่งกรดต่างๆ ที่ไหลลงคลองจะใช้วิธีการเอาสารเคมีไปโปรย ตามกรรมวิธีของอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ค่าของน้ำดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าของน้ำในคลองปลากั้งดีขึ้นแล้ว และจะมีการติดตามน้ำในคลองอย่างต่อเนื่องด้วย ส่วนการแก้ไขถาวรั้น กรดที่รั่วไหลอยู่บนดาดฟ้า บางส่วนได้มีการดึงลงมาข้างล่างเก็บใส่ภาชนะที่มั่นคงแล้ว ส่วนที่เอาทราย หรือปูนขาวกลบสารที่รั่วไหลไว้ข้างบนดาดฟ้านั้น ก็จะเร่งขนย้ายเอาออกไปก่อนที่ฝนจะตกชะล้างลงลำรางระบายน้ำ และลงคลองน้ำสาธารณะซ้ำอีก หลังจากนั้นอุตสาหกรรมจังหวัด จะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ขอใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานในการขนย้ายสารเคมีออกไปกำจัดให้หมด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความปลอดภัย และสบายใจ ส่วนที่มีช่องทางที่จะเอาผิดทางโรงงานก็จะรีบดำเนินการทันที ขณะเดียวกัน ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีมาแก้ไขปัญหาป้องกันที่จะเกิดซ้ำอีก หลังพบว่าในพื้นที่มีโรงงานลักษณะดังกล่าวอยู่ประมาณ 2-3 แห่งด้วยกัน…00