นางนภาพัฒน์ อู่เจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า อ.เมือง ระยอง เปิดเผยว่า การบริหารจัดการขยะภายในชุมชนเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมาช่วยกันคิดว่า จะนำขยะที่มีอยู่มาทำอะไรให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ทางเทศบาลจึงได้ส่งชาวบ้านให้ไปศึกษาดูงานหลายๆ ที่ โครงการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยคณะกรรมการมีกติกาว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของโครงการ จะต้องนำขยะมาฝากตามที่กำหนด เพื่อรักษาความเป็นสมาชิกไว้ ส่วนเงินที่ได้จากการเอาขยะมาฝากไว้ให้เอาไว้ดูแลเรื่องของฌาปณกิจ และจัดสรรในเรื่องของสวัสดิการ ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล โดยขยะที่ได้ทำการคัดแยกจากครัวเรือน มีประมาณ 2.5 ตันต่อเดือน นำเข้าโครงการฯ และจัดการจนทำให้ปริมาณขยะลดลหลังโครงการธนาคารคัดแยกขยะฯ ดำเนินการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง
ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้สร้าง “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจรขึ้น ตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล รวมถึงสร้างระบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน GC เล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะมีประโยชน์กับชุมชนแห่งนี้ จึงได้เข้ามาเป็นพลังเสริม ในการช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชนให้ครบวงจร เช่น การบันทึกข้อมูลขยะขาเข้าจากแหล่งต่างๆ การจัดการด้านบัญชีการเงิน ข้อมูลขยะในคลัง จนถึงการจัดการด้านการขายพลาสติก (ประเภท PET และ HDPE) ให้กับโรงงาน ENVICCO ของ GC ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับ Food Grade มาตรฐานยุโรปแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยบริหารจัดการด้านการขนส่ง ด้วยการวางแผนการขนส่งให้มีต้นทุนที่ถูกที่สุดอีกด้วย ในที่สุดความร่วมมือระหว่าง วิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า GC และ ENVICCO จึงทำให้ ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการขยะของชุมชนได้ถึง 10 ตันต่อเดือน นับว่าศูนย์ฯ นี้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรจากต้นทางถึงปลายทางแห่งแรกในจังหวัดระยอง
ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เป็นศูนย์การเรียนรู้และบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยดึงการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในชุมชนมาช่วยกัน และสามารถนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับมาสนับสนุนชุมชน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ในส่วนของชุมชน ก็ช่วยลดปัญหาขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ขยะถูกจัดการอย่างถูกต้อง นำกลับมาเพิ่มคุณค่าได้ ซึ่งข้อดีมาก ๆ ของการเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกข้อหนึ่ง คือ จะทำให้คนที่ได้มาเรียนรู้ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับชุมชนของตัวเอง ถือเป็นการขยายผลการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ซึ่งตรงกับความต้องการของชุมชน…00000
ธนัญธร รวงผึ้ง