Ads

Loading

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จำกัด) มหาชน หรือ GC ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ SUT ในโครงการศึกษาการจัดการขยะพลาสติกจากต้นทางสู่ปลายทางแบบครบวงจร ช่วยเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกปนเปื้อนต่างๆ โดยการรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการ Chemical Recycling หรือ กระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน (Ecosystem) ด้วยแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) และ การดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “GC มีความเชื่อและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนเป็นการสร้างสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ GC มุ่งเน้น คือ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ  โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการทำงานร่วมกับพันธมิตร (Loop Connecting) สู่การสร้างความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน (Ecosystem) ที่แข็งแรง สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดย GC ได้ริเริ่ม “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นตัวอย่างของแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) เพื่อนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การคัดแยก รวบรวมขยะพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากเครื่องรับขยะ (Drop Points) และขนส่งไปยังปลายทาง เช่น โรงงานรีไซเคิล หรือ โรงงานอัพไซเคิล โดยในปลายปี 2564 นี้ GC จะเปิดดำเนินการโรงงานพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (Food Grade) ครบวงจรเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ถึงวันนี้ GC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการร่วมมือกับ SUT พันธมิตรภาคการศึกษา ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อร่วมกันวางแผนการจัดการคัดแยกขยะพลาสติกที่ต้นทาง ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะพลาสติก พร้อมสนับสนุนถังขยะต้นแบบเพื่อการคัดแยก รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะพลาสติกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่รูปแบบการจัดการคัดแยกขยะพลาสติกต้นทางที่สามารถลงมือทำได้จริงสู่ปลายทางแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ โดย GC มีบริษัทในกลุ่มที่สามารถส่งเสริมมหาวิทยาลัยฯ ในการขยายผลไปในระดับประเทศได้ นอกจากนี้ GC ยังร่วมศึกษาวิจัย และสนับสนุนงบประมาณในการทดสอบการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อนให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกปนเปื้อนในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย” ความร่วมมือในครั้งนี้ ส่งผลให้ GC มีแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) อย่างครบถ้วนครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1) พลาสติกชีวภาพ (Bio-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถสลายตัวได้ด้วยการฝังกลบเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว  2) พลาสติกทั่วไป (Fossil-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรืออัพไซเคิล (Upcycle) เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถคัดแยกและนำกลับมารีไซเคิลด้วยกระบวนการ Mechanical Recycling ได้ 3) Chemical Recycling ซึ่งได้ร่วมมือกับ SUT ในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ (Mechanical Recycling) ได้ ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พร้อมวางระบบการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่ง GC มีพันธมิตรที่สามารถรองรับวัตถุดิบที่ได้มาจากกระบวนการ Chemical Recycling นี้อีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “SUT มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งได้ศึกษาและวิจัยการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่การคัดแยกจนถึงการ  แปรรูปเป็นพลังงานรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันด้วยกระบวนการไพโรไลซิสขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร/วัน และมีความพร้อมในการทำวิจัยต่อยอดเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการของเสียแบบครบวงจร SUT มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ GC ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอันดับหนึ่งของประเทศไทย ใน “โครงการศึกษาการจัดการขยะพลาสติกและการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกปนเปื้อน” ซึ่งเป็นการอาศัยความร่วมมือ ประสบการณ์ และความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะใช้พื้นที่ของ SUT เป็นกรณีศึกษา ในการสร้างรูปแบบการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ศึกษาการคัดแยกขยะพลาสติก การนำขยะพลาสติกมาแปรรูป ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยคาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้เกิดระบบจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผล ทั้งด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับประเทศต่อไปในอนาคต”

จากการผสานพลังความร่วมมือและนวัตกรรมจากภาคการศึกษาและภาคเอกชนในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมืออีกหนึ่งขั้นที่มุ่งหวังให้เยาวชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาล เรื่องการนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และนำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดในปี 2570 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ต่อไปอย่างยั่งยืน …000

ธนัญธร รวงผึ้ง

TT Ads

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *